เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 6. สันทกสูตร

“สันทกะ ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้ทั่ว
ถึงเนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนคนที่มีมือและเท้าขาดไป เมื่อคน
นั้นเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ก็รู้เสมอต่อเนื่องว่า ‘มือและเท้าของเรา
ขาดแล้ว’ หรือเมื่อเขาพิจารณาเหตุนั้นอยู่ก็รู้ว่า ‘มือและเท้าของเราขาดแล้ว’ หรือ”
“ท่านพระอานนท์ คนนั้นย่อมไม่รู้เสมอต่อเนื่องว่า ‘มือและเท้าของเรา
ขาดแล้ว’ แต่เขาพิจารณาเหตุนั้นแล้วจึงรู้ว่า ‘มือและเท้าของเราขาดแล้ว”
“สันทกะ ภิกษุนั้นก็อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน
โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อเธอเดินไปอยู่
หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะว่า ‘อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว’
ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า ‘อาสวะทั้งหลาย
ของเราสิ้นไปแล้ว”
[236] สันทกปริพาชกถามว่า “ท่านพระอานนท์ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุ
กำจัดกิเลสและกองทุกข์ให้ออกไปได้มีจำนวนมากเพียงไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “สันทกะ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้กำจัดกิเลสและ
กองทุกข์ให้ออกไปได้ มิใช่มีเพียง 100 รูป 200 รูป 300 รูป 400 รูป 500 รูป
ความจริงแล้วมีอยู่จำนวนมากทีเดียว”
สันทกปริพาชกกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
ในพระธรรมวินัยนี้ไม่ได้มีการยกย่องธรรมของตน และไม่มีการติเตียนธรรมของ
ผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุผลเท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและ
กองทุกข์ได้มากมายถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวกเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตร
ตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น กลับปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและ
กองทุกข์ได้เพียง 3 คน คือ (1) นันทะ วัจฉะ (2) กิสะ สังกิจจะ (3) มักขลิ โคสาล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :277 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
7. มหาสกุลุทายิสูตร

ลำดับนั้น สันทกปริพาชกเรียกบริษัทของตนมากล่าวว่า “พ่อผู้เจริญทั้งหลาย
จงประพฤติพรหมจรรย์กันเถิด การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อม
มีผล แต่บัดนี้ เราทั้งหลายจะสละลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นไม่ใช่เป็นของ
ทำได้ง่าย”
สันทกปริพาชกได้ส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาค
ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล

สันทกสูตรที่ 6 จบ

7. มหาสกุลุทายิสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อสกุลุทายี สูตรใหญ่

[237] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก คือ ปริพาชกชื่อ
อันนภาระ ปริพาชกชื่อวรตระ ปริพาชกชื่อสกุลุทายี และปริพาชกเหล่าอื่นล้วนมี
ชื่อเสียง อาศัยอยู่ในอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ครั้นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุง
ราชคฤห์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า
“ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในเขตกรุงราชคฤห์ ทางที่ดี เราควรเข้าไป
หาสกุลุทายีปริพาชก จนถึงอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปยังอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อ
แก่นกยูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :278 }